crafts-village

ความเป็นมา

ในปี พ.ศ.2532-2533 ชาวบ้านถวายที่ประกอบอาชีพหัตถกรรมเป็นอาชีพหลักขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงได้รวมตัวกันภายใต้การนำของพ่อหลวงคำมูล บุตรชัยและคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสืบสานและประชาสัมพันธ์งานไม้แกะสลักของบ้านถวาย

ทั้งยังได้มีการจัดงานประจำปีขึ้น ภายใต้ชื่อ “งานศิลปหัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย” ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลและจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการจัดงานบริเวณ โรงเรียนทรายมูล อ.หางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ใช่บริเวณพื้นที่ของบ้านถวาย
จนกระทั่งในการจัดงานครั้งที่ 3 จึงได้ย้ายเข้ามาจัดงานบริเวณที่ว่างโล่ง (ปัจจุบันเป็นศูนย์หัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย) ซึ่งในขณะนั้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ได้เข้ามาร่วมงานดังกล่าว แล้วจึงได้มอบเงินทุนเพื่อจัดตั้งศูนย์หัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย พร้อมทั้งนายยุทธนา อุปโยคินได้มอบที่ดิน ในการจัดตั้งเพื่อร่วมสนับสนุน และสืบสานงานแกะสลักไม้ของหมู่บ้านถวาย

ชาวถวายจำนวนมากก็ได้ให้ความสนใจมาเปิดร้านเพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมเยือนได้เข้าชมและเลือกซื้องานหัตถกรรมกลับไปเป็นของที่ระลึก อย่างไรก็ตามศูนย์หัตถกรรมนั้น แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักในนามของบ้านถวาย แต่ว่าโดยแท้จริงแล้วเป็นพื้นที่เขตหนองแก๋ว

รวมทั้งในระยะต่อมาพื้นที่บริเวณดังกล่าวเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านถวาย ทำให้ในปี พ.ศ. 2535 จึงมีการขยับขยายศูนย์หัตถกรรมเข้ามาบริเวณสองฝั่งคลองชลประทาน โดยมีพ่อหลวงสุวรรณ โปธิ เป็นผู้สานต่อเจตนารมณ์ในการพัฒนาตลาดสองฝั่งคลองจากพ่อหลวงคำมูล นับแต่นั้นการจัดงานประจำปีของบ้านถวายจึงได้ย้ายเข้ามาจัดในบริเวณพื้นที่สองฝั่งคลองดังกล่าว
บ้านถวายสองฝั่งคลอง
การพัฒนาศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายสองฝั่งคลองนั้นเกิดขึ้นจากกร่วมแรงร่วมใจของคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง โดยชาวหมู่บ้านถวายได้เริ่มจากการผลักดันเพื่อขอใช้ที่ดินบริเวณสองฝั่งคลองจากกรมชลประทานเพื่อพัฒนาเป็นร้านค้า ซึ่งในช่วงแรกนั้นทางกรมชลประทานก็ได้คัดค้านการใช้พื้นที่

แต่ด้วยความแน่วแน่ในความต้องการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของตนเอง ในที่สุดกรมชลประทานจึงยอมอนุญาตให้ใช้สอยพื้นที่ได้ ในระยะแรกนั้นตลาดสองฝั่งคลองยังเป็นเพียงร้านค้าชั่วคราว คล้ายเพิงหมาแหงน หลังจากนั้นเมื่อตลาดสองฝั่งคลองมีชื่อเสียงมากขึ้น

จึงมีการพัฒนาพื้นที่ โดยขยายพื้นที่ถนน การจัดหาไฟฟ้าและสาธารณูปโภคอื่นๆ รวมทั้งมีการจัดตั้งกรรมการร้านค้า ซึ่งในขณะนั้นมีด้วยกันประมาณ 20-30 ร้าน และกรรมการตัวแทนหมู่บ้านเพื่อเข้ามาบริหารจัดการ มีจำนวนร้านมากขึ้น (ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นพื้นที่ค้าขายดังที่ปรากฏในปัจจุบัน)
ในปี 2543 ชุมชนบ้านถวายได้พัฒนากลุ่มอาชีพแกะสลักไม้ เป็น "กลุ่มหัตถกรรมบ้านถวายเพื่อการส่งออก" ต่อมาในปี 2547 รัฐบาลได้มีการส่งเสริมงานหัตถกรรม ภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)
และบ้านถวายได้รับการคัดเลือกจากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยให้เป็น "หมู่บ้าน OTOP ต้นแบบ" แห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้รับเลือกเป็น "หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP" จากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา
จากนั้นในการประกวด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ปี พ.ศ.2550 หมู่บ้านถวายก็ได้รับรางวัล "ชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว" จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

และในปี 2553 หมู่บ้านถวายยังได้รับคัดเลือกให้เป็น “ย่านการค้าพาณิชย์ บ้านถวาย หมู่บ้านสร้างสรรค์” ล่าสุดในปี พ.ศ. 2554 หมู่บ้านได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ “สุดยอดย่านการค้าพาณิชย์ไทย” จากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นการช่วยอนุรักษ์วิถีชีวิตการประกอบการค้าของชุมชนแบบดั้งเดิมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

บ้านถวายสองฝั่งคลอง