ประวัติบ้านถวาย

บ้านถวาย
บ้านถวาย

ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าต่อกันมาว่า หมู่บ้านถวายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี แต่ก่อนนั้นชาวบ้านในพื้นที่นี้ทราบว่าพระนางจามเทวีจะเสด็จโดยเกวียนจากนครลำพูนจะผ่านมายังหมู่บ้าน เพื่อเดินทางไปสร้างวัดละโว้ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 2 ก.ม. ชาวบ้านจึงได้นัดแนะกันเพื่อนำเอาผลไม้และเครื่องบรรณการต่างๆ ใส่พานโตกไม้ (พานแบบล้านนา) มาถวายแด่พระนางจามเทวี เพื่อแสดงความเคารพและเป็นเครื่องสักการะแก่พระนาง จึงทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่า “หมู่บ้านถวาย”

ในอดีตบ้านถวายเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่เมื่อหมู่บ้านประสบภาวะขาดแคลนน้ำและฝนแล้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจในหมู่บ้านตกต่ำ ประมาณช่วง พ.ศ. 2500-2505 ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยเดินทางออกจากหมู่บ้านไปประกอบอาชีพอื่นๆ บางคนก็ออกไปรับจ้างก่อสร้าง บางคนก็ออกไปทำการค้าในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่

ในจำนวนนี้ก็มีชาวบ้านถวาย คือ พ่อใจมา อิ่นแก้ว พ่อหนานแดง พันธุสา และพ่อเฮือน พันธุศาสตร์ ทั้งสามท่านได้เดินทางไปรับจ้างทำงานในตัวเมืองเช่นกัน โดยทั้งสามได้ไปทำงานก่อสร้างที่ร้านน้อมศิลป์ ย่านวัวลาย ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านไม้แกะสลัก ทำให้ทั้งสามท่านเกิดความสนใจในงานแกะสลักไม้ เมื่อได้ทดลองทำและฝึกฝนวิธีการ เทคนิคการแกะสลักกับช่างที่มีฝีมือของทางร้าน จึงได้พัฒนาฝีมือจนได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นช่างแกะสลักไม้ ที่ร้านน้อมศิลป์อย่างเต็มตัว

ในสมัยนั้นการเดินทางเข้าไปยังตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ทำได้ค่อนข้างยาก ท่านทั้งสาม จึงต้องปั่นจักรยานเพื่อเดินทางเข้าไปยังตัวเมือง รวมทั้งเมื่อมีงานแกะสลักไม้เข้ามามากขึ้นทั้งสามท่านจึงได้ขอนำงานแกะสลักมาทำต่อที่บ้าน โดยมีญาติพี่น้องเข้ามาช่วยทำงานเป็นลูกมือ ในงานขัดไม้ ตัดไม้ ทำความสะอาดเครื่องมือ จากนั้นจึงเริ่มให้ผู้ที่มาเป็นลูกมือฝึกการแกะสลักไม้เล็กๆ น้อยๆ

ซึ่งนับว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดงานแกะสลักไม้ให้กับลูกหลาน และชาวถวายทำให้งานไม้แกะสลักได้รับการเผยแพร่ออกไปสู่ชาวบ้านผู้มีใจรักในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมการแกะสลัก ซึ่งชาวถวายบางส่วนได้ยึดเอางานแกะสลักไม้เป็นงานอดิเรกที่ทำในเวลาว่าง

โดยงานไม้แกะสลักในช่วงแรกนั้นเป็นงานแกะสลักแผ่นไม้เป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายรามเกียรติ์ ครุฑ สิงห์ ตุ๊กตาดนตรี จากนั้นจึงได้มีการพัฒนาทักษะและฝีมือเรื่อยมา และมีผู้ที่สนใจทำงานไม้แกะสลักมากขึ้น จึงเกิดงานแกะสลักไม้ที่มีศิลปะและลวดลายที่แปลกใหม่

ในระยะต่อมาได้มีกลุ่มสตรีในหมู่บ้าน นำโดยคุณนงคราญ อุปโยคิน ได้เดินทางเข้าไปในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมในด้านอื่นๆ ณ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อเกิดความชำนาญจึงได้นำทักษะนั้นเข้ามาผสมผสานกับงานแกะสลักไม้ในหมู่บ้าน ทำให้เกิดงานหัตถกรรมที่มีความงดงาม และมีเอกลักษณ์

กระทั่งสามารถประยุกต์เทคนิคต่างๆ จนทำให้เกิดงานแกะสลัก และงานหัตถกรรมในรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้นในหมู่บ้านถวาย ซึ่งนั่นคือ งานแต่งเส้นเดินลาย นอกจากนี้ทักษะ เทคนิค และความรู้เหล่านี้ก็ได้รับการสืบทอดต่อไปยังลูกหลานภายในหมู่บ้านถวายเช่นกัน
เมื่องานหัตถกรรมที่ถูกรังสรรค์โดยคนในหมู่บ้านนั้นมีมากขึ้น ชาวบ้านก็เริ่มที่จะมีการแสดงผลงานของตนบริเวณหน้าบ้านของตน ทำให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้ชื่นชม และได้เล่าขานในความประณีตงดงามของไม้แกะสลักของบ้านถวาย จนกระทั่งเริ่มมีนักท่องเที่ยวและพ่อค้าเริ่มเดินทางเข้ามายังหมู่บ้านถวายเพื่อเลือกซื้อ และเข้ามาชมความงดงามของงานไม้แกะสลักที่ชาวบ้านถวายได้สรรสร้างขึ้นมาด้วยใจรัก

จากนั้นหมู่บ้านถวายก็เริ่มที่จะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของคนทั่วไปและถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมไม้แกะสลักที่มีชื่อเสียงแหล่งหนึ่งของประเทศไทย ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาประกอบอาชีพแกะสลักไม้เป็นอาชีพหลักเพื่อร่วมสืบสานภูมิปัญญาอันมีคุณค่านี้

อ่านต่อ >>